การใช้กรดไขมัน (omega fatty acids)ในทางสัตวแพทย์
กรดไขมัน (fatty acids) ที่ร่างกายได้รับจากอาหาร ส่วนใหญ่จะถูกออกซิไดซ์เป็นพลังงานหรือถูกเก็บสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน และส่วนหนึ่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acids) ในอาหารที่ไม่ถูกออกซิไดซ์หรือเก็บสะสมในร่างกายจะกลายเป็นส่วนประกอบที่มีบทบาทสำคัญของร่างกายคือ เยื่อหุ้มเซลล์หรือผนังเซลล์ต่างๆในร่างกาย
ประเภทของของกรดไขมันไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acids) สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ
- กรดไขมันโอเมก้า-3 (omega-3 fatty acids)
- กรดไขมันโอเมก้า-6 (omega-6 fatty acids)
โดยเป็นการจำแนกตามโครงสร้างโมเลกุลตามภาพที่ 1. และสามารถแบ่งชนิดกรดไขมันโอเมก้า-3 และกรดไขมันโอเมก้า-6 ได้ตามตารางที่ 1.


ในปัจจุบันมีการนำกรดไขมันโอเมก้ามาใช้เพื่อต้านการอักเสบในกรณีต่างในสุนัขดังนี้
- ภาวะแพ้ (aleergies) หรือภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (autoimmune) ทั้งสองภาวะนี้เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมากเกินไป การให้กรดไขมันโอเมก้า อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการลงได้
- โรคผิวหนังแบบ sebborrhea การให้กรดไขมันโอเมก้าอาจช่วยให้อาการดีขึ้น รวมทั้งภาวะที่ขนไม่แข็งแรง แห้ง แข็ง เปราะแตกง่าย การให้กรดไขมันโอเมก้าก็ให้ผลการตอบสนองที่ดีเช่นกัน
- การป้องกันภาวะภูมิแพ้ (atopy) ในแม่สัตว์ที่ตั้งท้องที่มีภาวะภูมิแพ้ จะช่วยให้แม่สัตว์อาการดีขึ้น และนอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะภูมิแพ้ในสัตว์ได้ด้วย
- โรคไตวายเรื้อรัง กรดไขมันโอเมก้า มีส่วนช่วยลดแรงดันของการกรองผ่านหลอดเลือด glomerilar ที่ท่อหน่วยไต ในระยะยาวอาจมีผลช่วยให้ความรุนแรงของภาวะไตวายเรื้อรังเกิดขึ้นช้าลง
- ข้ออักเสบ (arthritis) กรดไขมันโอเมก้า มีส่วนช่วยลดการอักเสบที่เกี่ยวกับข้อได้
- ภาวะโรคหัวใจในสุนัขพันธุ์ Boxer กรณีการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจห้องล่างขวาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Arrhythmogenic right ventricular cardiomyopathy) กรดไขมันโอเมก้าอาจมีส่วนป้องกันการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจห้องล่างขวา ช่วยลดแรงดันเลือด และมีผลต่อการรวมตัวของเกร็ดเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้
- การติดเชื้อยีสต์ กรดไขมันโอเมก้าสามารถยัลยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อยีสต์ได้ในห้องปฏิบัติการ
การใช้กรดไขมันโอเมก้าต้องใช้เวลาในการรักษา โดยทั่วไปประมาณ 9-12 สัปดาห์ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินผลว่าได้ผลในการรักษาหรือไม่ กรดไขมันโอเมก้าให้ผลดีในการรักษาโรคผิวหนังในแมวหลายโรค
การให้กรดไขมันโอเมก้ามีผลเสียและผลข้างเคียงต่ำ แต่ควรระวังในกรณีที่ให้ขนาดสูงมาก อาจจะทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบได้แต่พบได้น้อยมาก การเรสริมกรดไขมันโอเมก้าอาจทำให้สัตว์เลี้ยงน้ำหนักตัวเพิ่มได้ ดังนั้นจึงควรควบคุมปริมาณอาหารที่กินให้เหมาะสม สัตว์บางตัวอาจมีอาการถ่ายเหลวได้ดังนั้นในการให้กรดไขมันโอเมก้าอาจเริ่มจากปริมาณน้อยแล้วจึงค่อยๆเพิ่มปริมาณให้ถึงระดับที่เหมาะสม สำหรับผลเสียของการให้กรดไขมันโอเมก้าระยะยาวนั้นปัจจุบันยังไม่พบ